วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

Webquest
 WebQuest   คือ  บทเรียนการแสวงรู้บนเว็บ ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบของสื่อการเรียนรู้ประเภทหนึ่งที่เบอร์นี่ ด็อจ (Bernie Dodge) แห่ง San Diego State University สหรัฐอเมริกาได้คิดค้นและพัฒนาขึ้น โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะขั้นสูงในการสืบค้นข้อมูลต่างๆ  ที่มีอยู่บนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยอาศัยกิจกรรมบนบทเรียนเป็นตัวเร้าความสนใจให้ผู้เรียนเกิดความใฝ่รู้และต้องการสืบเสาะค้นหาข้อมูล ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นในรูปแบบของการตั้งสมมติฐานและสมมติสถานการณ์   โดยการเชื่อมโยงไปยังแหล่งข้อมูลความรู้ต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาเพื่อให้ผู้เรียนสามารถค้นคว้าต่อเนื่องไปได้ไม่รู้จบ ตามความสนใจของผู้เรียน แต่ละคน ช่วยให้ผู้เรียนสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับกิจกรรม  นอกจากนี้ได้มีผู้ให้คำนิยามรวมถึงความหมายของบทเรียนการแสวงรู้บนเว็บ (WebQuest) ไว้ซึ่งสามารถสรุปได้คือ เป็นการใช้แหล่งความรู้ที่มีอยู่มากมายบนระบบอินเทอร์เน็ตมาจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยผู้สอนในรูปแบบของกิจกรรมและสมมติฐานโดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้มาบูรณาการฝึกนิสัย  และทักษะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากระบวนการทำงานกลุ่มและการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ บนระบบอินเตอร์เน็ต  (Dodge, 1995 ; Owen, 1999 และวสันต์ อติศัพท์, 2546)  รูปแบบการเรียนด้วยบทเรียนการแสวงรู้บนเว็บนี้ ยังจะช่วยเพิ่มคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้แก่ผู้เรียนทั้งด้านการเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning) การเรียนแบบใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning) และการเรียนแบบสืบสวนสอบสวน (Inquiry Method) ซึ่งผู้เรียนจะต้องนำความรู้ที่ได้จากการสืบค้นมาวิเคราะห์ซึ่งเป็นจุดหลักที่สำคัญของการศึกษาในปัจจุบันที่ไม่เน้นให้ผู้เรียนท่องจำแต่เน้นความเข้าใจ สามารถนำความรู้ที่ได้มาบูรณาการและวิเคราะห์ออกมาเป็นความรู้ของตนเองหรือที่เรียกว่า การสร้างองค์ความรู้โดยผู้เรียนเอง (Yates ,2003 ในชาคริต อนันตวัฒนวงศ์, 2549) กล่าวว่า เว็บเควสท์ (WebQuest)  เป็นการให้ประสบการณ์โดยตรงแก่ผู้เรียน โดยครูเป็นผู้ชี้แนะแนวทาง แล้วให้ผู้เรียนเข้าหาข้อมูล เนื้อหาที่สอดคล้องกับประสบการณ์การเรียนรู้นั้นๆ  วสันต์ (2547) ได้ให้นิยามของ WebQuest ว่า คือกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นการแสวงหาความรู้ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นฐานในการปฏิสัมพันธ์ กับผู้เรียนบนแหล่งต่างๆในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต   WebQuest  เน้นการใช้สารสนเทศ มากกว่าการแสวงหาสารสนเทศ สนับสนุนผู้เรียนในขั้นการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และการประเมินค่า  ทั้งยังส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้จินตนาการ และทักษะการแก้ปัญหา  โดยผู้เรียนจะต้องค้นพบคำตอบและสร้างสรรค์ด้วยตนเอง  ผ่านทางเว็บไซต์ ที่ครูผู้สอนเสนอแนะอย่างมีความหมาย  Lasley, Matczynski, & Rowley (2002)     กล่าวว่า WebQuest  คือวิถีทางในการแสวงหาความรู้โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือกัน กิจกรรมกลุ่มนี้จะให้ผู้เรียนร่วมกันเข้าใจถึงเนื้อหาต่างๆพัฒนากระบวนการ ในการปฏิสัมพันธ์ของกลุ่ม    อีกทั้งยังนำข้อมูลพื้นฐานที่ครูผู้สอนแนะนำจากแหล่งข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ได้   Peterson, et. al. (2003)    กล่าวว่า  WebQuest เป็นกลุ่มของข้อปัญหาและงานต่างๆ ให้ผู้เรียนได้พยายามเข้าศึกษาข้อมูล เนื้อหาต่างๆ และยังเป็นการชี้แนะให้ผู้เรียนเข้าถึงข้อมูลตามที่ครูผู้สอนได้เจาะจงแหล่งข้อมูล เว็บต่างๆ    ซึ่งสนับสนุนการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หรือการเรียนร่วมกัน (Teams in a Class)   March (2004)  กล่าวถึง WebQuest ว่าเป็นการจัดโครงสร้างในการเรียนรู้ที่มีลักษณะเป็นโครงร่าง  (Scaffolded  Learning Structure)  โดยใช้ตัวเชื่อมโยง (Link) ไปยังแหล่งต่างๆ บนเครือข่ายเว็บทั่วโลก (World Wide Web) และมีงานต่างๆ ชักชวนให้ผู้เรียนค้นหาคำตอบ จากข้อคำถามนั้นๆ พัฒนาทักษะเฉพาะ และโต้ตอบกับกระบวนการของกลุ่ม ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำข้อมูลใหม่ๆ ไปใช้แก้ปัญหาได้ด้วยความเข้าใจ   (วสันต์  อติศัพท์,   2546)

             ดังนั้นอาจสรุปคำจำกัดความของ เว็บเควสท์ (WebQuest)  ได้ว่าเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นการแสวงหาความรู้   โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นฐาน  ครูผู้สอนหรือผู้ออกแบบ บทเรียนไม่ได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เรียนแต่ฝ่ายเดียว แต่เป็นผู้จัดกลุ่ม เรียบเรียง และลำดับความรู้ต่างๆ ให้อำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนได้เข้าถึงความรู้นั้นๆ  อย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน โดยมุ่งการแก้ปัญหาเป็นสำคัญ  ลักษณะของ WebQuest ที่สำคัญคือ  แสดงเพียงโครงร่างเนื้อหา เป็นกรอบของความรู้ที่ผู้เรียนต้องหรือควรจะศึกษาไม่ได้มุ่งแสดงเนื้อหารายละเอียดของความรู้นั้นๆ ที่ชี้ชัดลงไปโดยตรง ดังเช่นบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนทั่วๆ ไปที่ผู้ออกแบบได้ระบุเนื้อหาเฉพาะเพียงกรอบของวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมที่ต้องการเท่านั้น วิธีการของ WebQuest ในการเข้าสู่เนื้อหาความรู้ต่างๆ ได้โดยใช้ตัวเชื่อมโยง บนหน้าเว็บเพจหลัก ของกรอบโครงสร้างเนื้อหาหลัก   ที่ผู้ออกแบบจัดกลุ่ม เรียบเรียงและลำดับ     เชื่อมโยงไปยังแหล่งความรู้อื่นๆ ในเว็บไซต์อื่น ที่ผู้สอนหรือผู้ออกแบบพิจารณาเห็นว่า   มีเนื้อหาสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ให้เกิดแก่ผู้เรียนเป็นสำคัญ
ด้วยคุณลักษณะบทเรียนแบบ WebQuest  ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วนั้น จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเลือก และย่อยองค์ความรู้ต่างๆ  รวมถึงจับกลุ่มผู้เรียนด้วยกันได้อย่างอิสระ สอดคล้องกับความต้องการความสามารถ ทางสติปัญญา ทั้งของตนเองและของกลุ่มได้ สนับสนุนผู้เรียนในขั้นการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และการประเมินค่า ทั้งยังส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้จินตนาการและทักษะการแก้ปัญหา โดยผู้เรียนจะต้องค้นพบคำตอบและสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ผ่านทางเว็บไซต์ที่ครูผู้สอนเสนอแนะอย่างมีความหมาย




รูปภาพการใช้งานWebquest











ที่มาhttp://www.blog.prachyanun.com/view.php?article_id=112
วันที่ี 20 กุมภาพันธ์ พศ.2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น